เคยสงสัยไหมครับ ว่าทำไมเฟซบุ๊กถึงรู้ว่าคุณกำลังสนใจอะไรอยู่? แค่เลื่อนฟีดส์อยู่ดี ๆ ก็เจอโฆษณาเดียวกับสิ่งที่คุณกำลังมองหา หรือไม่ว่าเข้าเว็บไซต์ไหน ก็เจอ Ads ของแบรนด์ที่คุณเคยเข้าเว็บไซต์นั้นตามมาตลอด นั่นเป็นเพราะ Facebook Pixel กำลังติดตามคุณอยู่
เทคนิคทำการตลาดออนไลน์ง่าย ๆ ของ Facebook Pixel ไม่เพียงติดตาม customer ของคุณนะครับ แต่ยังช่วยให้คุณวางแผนทำการตลาดจนปิดการขาย สร้าง conversion ได้จริงอีกด้วย
นักการตลาดมือใหม่หรือเจ้าของธุรกิจที่สนใจตีตลาดออนไลน์และกำลังแพลนทำ Ads อยู่ ไม่ควรพลาดบทความนี้ครับ เพราะผมจะแนะนำพร้อมสอนวิธีติดตั้ง Facebook Pixel แบบใช้งานได้จริงมาไว้ให้ครบที่นี่ที่เดียว
ทำความรู้จัก Facebook Pixel ก่อน
เริ่มแรกผมขอปูพื้นฐานเกี่ยวกับโค้ดพิกเซลว่าคืออะไร ทำงานอย่างไร และสำคัญต่อการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งสำหรับสร้าง conversion ให้แคมเปญออนไลน์อย่างไรบ้าง กันนะครับ
Facebook Pixel คืออะไร
โค้ด Pixel คือ โค้ดหรือจาวาสคริปต์ ที่แปะตรง header ของเว็บไซต์ ซึ่งจะเก็บข้อมูล วัดผล และติดตามกลุ่มเป้าหมายหรือ audiences ที่คลิกเข้ามายังเว็บไซต์ของแบรนด์จากแบนเนอร์โฆษณาในเฟซบุ๊ก ทำให้วิเคราะห์ผลจากการยิง Ads หรือนำไปใช้วางแผนทำโฆษณาและ retargeting ได้ต่อไป (เรื่องนี้ไว้ผมจะหาโอกาสอธิบายแบบลงลึกกันครับ)
นอกจากนี้ โค้ดพิกเซลจะเก็บข้อมูลจากเบราว์เซอร์กลุ่มเป้าหมายไว้ด้วยครับ ได้แก่
HTTP Header คือ ข้อมูลการรับส่งสารระหว่างเบราว์เซอร์กับเซิร์ฟเวอร์ในอินเตอร์เน็ต เช่น IP address ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บเบราว์เซอร์ โลเคชั่น เป็นต้น
ข้อมูล Pixel ได้แก่ Pixel ID และ Facebook cookies
การคลิกปุ่มต่าง ๆ ได้แก่ การคลิกปุ่มในหน้าเว็บไซต์ ชื่อปุ่มที่คลิก หน้าเพจที่คลิกไปต่อ แบบฟอร์มที่ให้กรอก
Metadata ได้แก่ คำอธิบายหน้าเพจ tags คีย์เวิร์ด
Facebook Pixel ทำงานอย่างไร
เมื่อคุณติดตั้งและฝังโค้ดหรือ pixel ไปในหน้าเว็บไซต์หรือ Landing Page ที่ต้องการ drive กลุ่มเป้าหมายที่คลิกมาจาก Ads Banner ในเฟซบุ๊กแล้ว pixel จะเริ่มทำงาน ดังนี้
เก็บข้อมูล โค้ดพิกเซลจะบันทึกพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายที่คลิกเข้ามาในหน้าเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นการ scroll หน้าเว็บไซต์ คลิกตรงส่วนต่าง ๆ หรือแม้แต่กดเลือกสินค้าลงใน cart แล้ว แต่กดออกไปก่อน
ฝัง cookies เมื่อเก็บข้อมูลทุกอย่างของลูกค้าแล้ว โค้ดพิกเซลจะซิงค์ข้อมูลกับ FB cookies ที่ฝังอยู่ในหน้าเบราว์เซอร์ของกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่คลิก Ads ในเฟซบุ๊กมาก่อนหน้านั้น เพื่อมาร์กไว้ว่าเบราว์เซอร์ของผู้ใช้งานดังกล่่าวคือกลุ่มเป้าหมายที่เราจะนำมาใช้ทำ Retargeting ต่อไป
และนี่ก็เป็นที่มาว่าทำไม คุณถึงเห็น Ads ของสินค้าหรือบริการที่เคยเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ตามมาเมื่อเข้าไปเล่นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมนั่นเองครับ
Facebook Pixel สำคัญอย่างไร
ในฐานะนักการตลาด คนสร้างแบรนด์ หรือเจ้าของธุรกิจ คุณสามารถวางแผนทำการตลาดออนไลน์ได้อย่างเป็นขั้นตอนและสร้าง conversion ได้ตามต้องการ โดยประยุกต์ข้อมูลที่ได้มาใช้ ดังนี้
ใช้ทำ Retargeting อย่างที่ได้อธิบายไปเกี่ยวกับการทำงานของโค้ดพิกเซลครับ เริ่มแรกคุณอาจเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายให้กลายเป็นลูกค้าไม่ได้ทันที บางคนอาจแค่เข้ามาดูสินค้าก่อน แต่ยังไม่ได้จะซื้อเดี๋ยวนั้น แต่อย่างน้อยคุณก็มีฐานข้อมูล ‘ว่าที่’ ลูกค้าอยู่ในมือ สำหรับยิง Ads รีทาร์เก็ต ครั้งต่อไปได้
ยิง Ads สร้าง Conversion หากต้องการสร้างแคมเปญอื่นขึ้นมา โดยมีเป้าหมายสร้าง conversion เฉพาะเจาะจงมากกว่าแค่คลิกลิงก์ เช่น กดสั่งซื้อ คลิก Sign Ups เป็นต้น ก็สามารถนำข้อมูลจากโค้ดพิกเซลมาใช้วางแผนยิง Ads ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ใช่และตอบโจทย์แคมเปญได้ครับ
วัดผลและ Track ข้อมูลได้ คุณจะรู้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายทำอะไร แสดงพฤติกรรมอย่่างไรหลังจากเข้ามาในหน้าเว็บไซต์ รวมทั้งยัง track ได้ว่าพวกเขาเข้าเว็บไซต์ผ่านเครื่องมืออะไร แท็บเลต คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่วยให้วิเคราะห์และวางแผนทำการตลาดได้อย่างเหมาะสม
เจาะกลุ่มเป้าหมายแม่นยำ คุณสามารถขยายฐานกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ที่เหมือนกับลูกค้าเดิมได้ หรือที่เรียกว่า Lookalike Customer โดยโค้ดพิกเซลจะมีส่วนช่วยในการกรองคนที่มีความสนใจ เพศ อายุ ที่อยู่อาศัย เหมือนกับกลุ่มเป้าหมายเดิมของคุณได้ ซึ่งช่วยให้เข้่าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ และสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ ได้มากขึ้น
เข้าถึง tools และการวัดผล หากต้องการทำ dynamic ads หรือสร้าง custom audience ก็สามารถทำได้ด้วยโค้ดพิกเซล โดยโค้ดนี้จะเข้าถึงข้อมูลที่ใช้วัดผล metrics อย่าง cost-per-lead (CPC) หรือ cost-per-conversion
Facebook Pixel ใช้ทำอะไรได้บ้าง
มาถึงคำถามที่หลายคนสงสัยกัน ตกลง Pixel เอามาใช้ทำอะไรได้บ้าง ผมจะแบ่งวิธีการนำข้อมูลจากโค้ดพิกเซลไปใช้ตามเป้าหมายการทำแคมเปญออนไลน์กันนะครับ หลัก ๆ ก็แบ่งได้เป็น 2 อย่าง คือ
ทำ Standard Event บนเฟซบุ๊ก
เราจะนำโค้ดพิกเซลบนเฟซบุ๊กไปแปะในหน้าเว็บไซต์ตัวเองในกรณีที่มี goals ของแคมเปญแบบทั่ว ๆ ไป หรือที่เรียกว่า Standard Event ซึ่งประกอบด้วย
- กดสั่งซื้อของ
- เก็บ Leads คนที่ sign ups ในเว็บไซต์
- ลงทะเบียน กรอกข้อมูลในฟอร์มบนหน้าเว็บ
- กรอกข้อมูลหรืออัปโหลดเอกสาร payment
- กดเลือกสินค้าลง cart
- กด checkout เพื่อซื้อของจากเว็บไซต์
- เสิร์ชข้อมูลในเว็บไซต์
- ดูข้อมูลหรืออ่านเนื้อหาในเว็บ
- คลิกติดต่อเข้ามาจากหน้าเว็บ
- เลือกสินค้า โดยกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม
- กดบริจาคให้
- ค้นหาที่ตั้งของแบรนด์
- กดจองบริการของแบรนด์
- ขอรับ Free Trial
- กดส่งข้อมูลสมัครทำธุรกรรมต่าง ๆ
- กด Subscribe
ทำแคมเปญเฉพาะบนเฟซบุ๊ก
นอกเหนือจากทำแคมเปญทั่วไปตามที่มีในรายการของ Standard Event แล้ว เราสามารถทำแคมเปญเฉพาะ โดยกำหนดรายละเอียดอื่นเพิ่มเติมขึ้นมาได้เอง เรียกว่า Custom Event การทำแคมเปญลักษณะนี้ต้องใช้คีย์เวิร์ดเฉพาะในตัว URL ด้วย ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
วิธีติดตั้ง Facebook Pixel
เมื่อรู้แล้วว่า Pixel คืออะไร และสำคัญอย่างไร คราวนี้มาดูวิธีสร้างและติดตั้งโค้ดตังฝวนี้กันครับ โดยผมจะสอนวิธีติดตั้งไปทีละขั้น ซึ่งคุณสามารถทำตามพร้อมกันได้เลยครับ
ขั้น 1 สร้างโค้ดพิกเซลขึ้นมา
ไปที่หน้า Facebook Events Manager คลิกที่เมนูมุมซ้ายบน เลือก Pixels
จากนั้นคุณจะเข้ามาเจอหน้าเพจตามแบบข้างล่างนี้ ให้คลิกปุ่มสีเขียวที่เขียนว่า Create a Pixel เลยครับ
ตรงนี้ คุณต้องกรอกข้อมูลชื่อแคมเปญ และ URL เว็บไซต์ เมื่อเรียบร้อยแล้ว ให้คลิก Create
ขั้น 2 ติดตั้ง Code บนเว็บไซต์
วิธีติดตั้งโค้ดพิกเซลบนเว็บไซต์มีอยู่ 2-3 วิธี ด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่าเว็บไซต์ของคุณเป็นแบบไหน ทำธุรกิจอะไรครับ
ก่อนอื่น เริ่มจากเลือกรูปแบบแพลตฟอร์มที่ตรงกับเว็บไซต์ของคุณ ตามตัวเลือกในภาพข้างล่างนี้ครับ
E-commerce หากคุณใช้แพลตฟอร์มอย่าง Squarespace หรือใช้ Google Tag Manager ก็ติดตั้งโค้ดพิกเซลได้เลยครับ ไม่ต้องมา edit โค้ดเองโดยตรง เลือก Use an Integration or Tag Manager โดยคุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดตั้งดังกล่าวได้ที่นี่ครับ
Dev ดูเว็บให้ หากคุณมี Web Developer ช่วยดูแลหลังบ้านของเว็บไซต์ให้อยู่แล้ว ให้เลือก Email Instructions to a Developer โดยคุณจะได้รับข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการติดตั้งโค้ดพิกเซล เพื่อส่งให้ Dev เอาไปติดตั้งในเว็บไซต์ต่อไปครับ
แต่ถ้าเว็บไซต์ของคุณไม่ได้เข้าข่ายกรณีไหนเลย ให้เลือก Mannually Install the Code Yourself ซึ่งผมจะอธิบายวิธีติดตั้งโค้ดด้วยตัวเองง่าย ๆ ไปพร้อมกันครับ
- ก็อปปี้โค้ดพิกเซลและนำไปแปะตรง header ของเว็บไซต์คุณ โดยคุณต้องแปะโค้ดไว้ทุกหน้าของเว็บ หรือเฉพาะหน้าเพจที่คุณจะ track ข้อมูล ในลักษณะนี้ครับ
<head> pixel code </head>
- คลิกเลือกว่าจะใช้งาน Automatic Advanced Matching หรือไม่ โดยข้อดีของการเปิดใช้งานส่วนนี้ จะช่วยให้คุณ track ข้อมูลได้แม่นยำขึ้น รวมทั้งสร้างฐานกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าเดิม
- กรอก URL เว็บไซต์ และคลิก Send Test Traffic เพื่อดูว่าโค้ดพิกเซลที่ติดตั้งไปนั้นใช้งานได้ปกติหรือไม่ หากโอเคแล้ว ใช้ได้ผล ก็คลิก Continue เลยครับ
ขั้น 3 ตั้งค่าติดตามผล
กำหนดการวัดผลและติดตามผลแคมเปญ โดยดูว่าแคมเปญของคุณเน้น track ผลจากการทำแคมเปญแบบทั่วไปที่มีอยู่ในลิสต์ของเฟซบุ๊กอยู่แล้ว (Standard Event) หรือต้องกำหนดรายละเอียดเฉพาะเพิ่มเติม (Custom Event) ซึ่งทั้งสองแบบมีวิธีกำหนดตั้งค่า ดังนี้
Standard Event ประกอบด้วย
- Track event on page load ใช้ในกรณีที่จะ track ข้อมูลที่คลิกแล้วขึ้นแท็บใหม่ เช่น กดสั่งซื้อ หรือ กด sign up ในอีกหน้าเพจ
- Track event on inline action ใช้ในกรณีที่จะ track ข้อมูลที่คลิกและทำรายการเสร็จในหน้านั้นหน้าเดียว
นอกจากนี้ คุณอาจตั้งค่าอิงจากพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายไปเลวก็ได้ครับ เช่น เลือกว่าจะ track ผลในกรณีที่กลุ่มเป้าหมายกด purshase เป็นต้น
Custom Event คุณต้องไปที่เมนู Facebook Events Manager เลือกเมนู Custom Conversions ตรงมุมซ้ายบน จากนั้นคลิก Create Customer Conversion เพื่อใส่รายละเอียดตามต้องการครับ
ขั้น 4 ยืนยันการตั้งค่า
เลือกเพิ่ม Facebook Pixel Helper ไปไว้ในหน้าเบราว์เซอร์ของคุณ ซึ่งบอกก่อนว่าต้องใช้ Chrome เท่านั้นนะครับ
ทดสอบเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์หรือหน้าเพจที่คุณติดตั้งโค้ดพิกเซลไว้ เพื่อดูว่าโค้ดใช้งานได้หรือไม่ หากใช้งานได้ ตัวไอคอนของจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินครับ
.
ขั้น 5 สร้างการแจ้งเตือน cookies
ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญมากครับ เพราะเกี่ยวข้องกับนโยบายของเฟซบุ๊กและอาจครอบคลุมถึงกฎหมายด้วยในบางกรณี ก็คือติดตั้งการแจ้งเตือนผู้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณ เพื่อให้พวกเขารู้ว่าเว็บไซต์ของคุณมีการ track และติดตามข้อมูลเบราว์เซอร์ของผู้ใช้งานอยู่ หากผู้เข้าชมไม่ติดอะไร ยินดีให้ cookies ติดตามไปได้ ก็จะกดยินยอม แต่ถ้าไม่ ก็จะได้กดบล็อกนั่นเอง
รายละเอียดส่วนนี้สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้เกี่ยวกับ Facebook Business Tools Terms หรือคู่มือเกี่ยวกับความยินยอมรับคุกกี้สำหรับเว็บไซต์หรือแอพครับ
เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หากคิดจะตีตลาดออนไลน์ ก็จำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนในโลกดิจิทัลมากขึ้น หมั่นอัปเดตเทรนด์ต่าง ๆ ที่สำคัญ คือต้องทำความรู้จักและเรียนรู้เครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนทำมาร์เก็ตติ้งอย่างเหมาะสมครับ